เบาหวาน คุมเข้มเท่าไหร่ ถึงจะพอดี

(โดย วัชรี ดิษยบุตร, MSc. Nutrition, BSc. Biochemistry)
update : 22/10/2020

senior-couple-hugging-home

“เลือดหวานเป็นน้ำเชื่อม” คนส่วนใหญ่ อาจจะเข้าใจว่า ปัญหาของเบาหวาน เป็นแค่การที่น้ำตาลในเลือดสูง จนมีคนเปรียบเปรยว่าเลือดหวาน แต่จริงๆแล้ว น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

อันตรายที่แท้จริงของการเป็นเบาหวานเรื้อรัง คือ การเกิดโรคแทรกที่อันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น หลอดเลือดสมองและหัวใจตีบ/แตก ไตเสื่อม ไตวาย ตาบอด ระบบประสาทเสื่อม เป็นแผลเรื้อรังจนต้องตัดอวัยวะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด เหล่านี้ล้วนเป็นที่ผลจากการที่น้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่อง

แม้ว่าเราจะพูดกันเยอะมากเรื่องคุมน้ำตาล แต่จริงๆแล้ว เรารู้หรือไม่ว่าเป้าหมายของการคุมน้ำตาลคือ ต้องอยู่ที่เท่าไหร่ และ คนทุกคนมีเป้าหมายแบบเดียวกันหรือไม่

ในอดีตเป้าหมายการคุมน้ำตาล มักจะดูที่น้ำตาลในเลือดตอนเช้า (Fasting Blood Sugar) แต่ปัจจุบันในวงการแพทย์ เป้าหมายของการคุมน้ำตาล จะดูที่น้ำตาลสะสม หรือ HbA1C เป็นสำคัญ เพราะเห็นผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยงานวิจัยศึกษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 จากกว่า 23 โรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรอังกฤษ พบว่า การลดน้ำตาลสะสมแม้เพียง 1% ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้ถึง 20% จากความเสี่ยงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ตาบอด ไตเสื่อม ที่ลดลง

          ที่สำคัญการคุมน้ำตาลได้ดีตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยรักษาสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้ดีกว่า ปล่อยให้น้ำตาลสูงเป็นเวลานานแล้วค่อยมาคุมดีเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ การคุมเบาหวานยังต้องดูปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ ความแข็งแรง และโรคแทรกซ้อนของบุคคลนั้นๆด้วย

ด้วยเหตุนี้ การตั้งเป้าหมายของการคุมเบาหวานประเภท 2 ในผู้ใหญ่ จึง คุมเข้มต่างกัน ตามวัย ดังนี้

ตารางเบาหวานคุมเข้ม

แม้ว่าทางทฤษฎีหากเราสามารถคุมน้ำตาลให้เป็นปกติได้ จะช่วยให้สุขภาพดีที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การตั้งเป้าหมายที่สมเหตุสมผล ที่เหมาะกับอายุ วัย และภาวะสุขภาพ สามารถทำได้จริง จะช่วยเรามีสุขภาพกายและใจดีได้ อย่างยั่งยืน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากมีผู้ใหญ่ที่บ้าน อยู่ในกลุ่มที่การคุมเบาหวานไม่ต้องเข้มงวดมาก เราเพียงแต่ดูแลให้ท่านได้เคลื่อนไหว มีกิจกรรมทำ กระฉับกระเฉง พร้อมกับคุมอาหารอย่างพอประมาณ อะไรที่ท่านอยากทาน ก็ให้ทานได้ แต่มีการพูดคุยว่าให้ทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ยังคุมน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ แต่ท่านยังได้ทานอาหารที่หลากหลาย เราก็สามารถที่จะดูแลท่านให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ให้ท่านมีความสุขในการใช้ชีวิตในบั้นปลายกับลูกหลานได้อย่างมีความสุข

Ref: Stratton IM, et al. BMJ 2000; 321:405–412,
พญ.เกษนภา เตกาญจนวนิช ใน หลักสูตรผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน 2557,สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน

เพิ่มเพื่อน

หมวดหมู่

บทความน่าสนใจ

Tags