น้ำตาลตกเสี่ยงโคม่า เรื่องสำคัญที่คนเป็นเบาหวานต้องรู้ !!

(เรียบเรียงโดย ญานิศา บุญสากุลธงไชย | ตรวจทานโดย วัชรี ดิษยบุตร BSc.Biochemistry, MSc.Nutrition)
update : 18/06/2021

น้ำตาลตก-ภัยเงียบเบาหวาน

รู้หรือไม่ !? เป็นเบาหวานไม่ใช่แค่ต้องระวังเรื่องน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเดียวนะคะ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปด้วย
คนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักมีภาวะน้ำตาลตก (Hypoglycemia) ซึ่งก็คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก./มล. ถ้าระดับน้ำตาลต่ำและไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ทันเวลาจะทำให้เกิดอาการต่างๆที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการของแต่ละคนอาจแตกต่างกันและมีหลายระดับ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นเบาหวานก็ควรสังเกตอาการของตัวเองและบอกให้คนใกล้ชิดได้รับรู้เพื่อคอยเฝ้าระวังภาวะน้ำตาลตก

เมื่อน้ำตาลเริ่มตก
ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น เราจึงมีอาการ มือสั่น ตัวสั่น กระวนกระวายใจ เหงื่อตก ใจสั่น เหงื่อออกที่มือ-เท้า หงุดหงิด ชาตามปลายมือเท้า ปาก ลิ้น หรือ แก้ม 

หากเรายังไม่ได้รับน้ำตาลอีก
ก็จะเริ่มส่งผลต่อสมอง ทำให้เราสับสน มึนหัว วิงเวียน คลื่นไส้ หน้าซีด ตัวซีด ง่วง เปลี้ย อ่อนแรง ตาลาย มองไม่ชัด ปวดหัว ซุ่มซ่าม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือตัดสินใจได้ ฝันร้าย หรือนอนละเมอ และถ้าขาดน้ำตาลต่อเนื่องเป็นเวลานาน  จะทำให้เกิดอาการชัก โคม่า และอาจเสียชีวิตได้

อาการน้ำตาลตก
ถ้าเราเจอคนที่มีภาวะน้ำตาลตก เราสามารถช่วยแก้ไขได้ด้วย กฎ 15-15 ตามขั้นตอนต่อไปนี้
  1. เช็คน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วว่าน้ำตาลน้อยกว่า 70 มก./มล. หรือสอบถามให้มั่นใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
  2. ให้รีบกินคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม หรือ 1 คาร์บ โดยกินอาหารที่ให้น้ำตาลเร็ว เช่น กล้วยสุก ขนมปังขาว อมลูกอม อมน้ำตาล จิบน้ำหวาน น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง (ถ้าหมดสติห้ามให้อาหารและเครื่องดื่มเพราะจะสำลักได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที)
  3. หลังกิน 15 นาที วัดค่าน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง หรือสังเกตว่าอาการกลับมาเป็นปกติหรือยัง
  4. ถ้าค่าน้ำตาลยังไม่ถึง 70 มก./มล.ให้ทำขั้นตอน 2 และ 3 ซ้ำ จนกว่าค่าน้ำตาลจะขึ้น หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น

เมื่ออาการปกติแล้ว ให้กินอาหาร หรือ ของว่างเพิ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าค่าน้ำตาลจะไม่ตกอีก และไม่ควรเป็นอาหารที่ทำให้น้ำตาลสูงเร็วเกินไป

กฎ15-15 รักษาภาวะน้ำตาลตก

ภาวะน้ำตาลตกเป็นอันตรายอย่างมาก  โดยเฉพาะหากเป็นโดยไม่รู้ตัว ขณะกำลังขับรถ ทำงานที่มีความเสี่ยง หรือ นอนหลับอยู่ อาจนำไปสู่การเสียชีวิต กันไว้จึงดีกว่าแก้

ผู้เป็นเบาหวาน หรือ เคยเกิดภาวะน้ำตาลตก ควรพกของว่างติดตัวไว้ เผื่อฉุกเฉิน เช่น ติดประชุม ติดงาน กินอาหารไม่ตรงเวลา หรือกินยาไม่ตรงกับมื้ออาหาร โดยของว่างนั้นอาจเป็นผลไม้ ถั่ว นม ขนมหรืออาหาร แต่ที่สำคัญควรมีโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ

  • มีน้ำตาลบ้างแต่ไม่สูงเกินไป
  • มีโปรตีนและไขมันชนิดที่ดีด้วย  ไม่ได้มีแต่จำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต
  • อาจมีใยอาหาร รวมถึงสารอาหารอื่นๆที่ดีต่อร่างกาย

อาหารว่างที่พอเหมาะในการคุมน้ำตาล คือ ปริมาณอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 1-2 คาร์บ (หรือ เท่ากับ 15-30 กรัม) ซึ่งจะช่วยประคองระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้ต่ำจนเป็นอันตราย ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลให้น้ำตาลสูงมากเกิน

เพิ่มเพื่อน

หมวดหมู่

บทความน่าสนใจ

Tags