โภชนาการเบื้องต้น สำหรับผู้ไตเสื่อมเรื้อรัง

(โดย วัชรี ดิษยบุตร BSc.Biochemistry, MSc.Nutrition)
update : 24/08/2021

1.กินอาหารที่ให้พลังงานให้เพียงพอ

ผู้เป็นไตเรื้อรังส่วนใหญ่ขาดพลังงาน จึงควรกินพลังงานสูงแต่คุมสารอาหารให้พอดีกับระยะไต พลังงานที่ควรกินต่อวัน ประมาณ 30-35 กิโลแคลอรี่/กก. น้ำหนักตัวที่เหมาะสม

2.กินโปรตีน ให้พอดีกับระยะที่เป็น

ระยะที่ 1 – 3 “กินให้พอดี” ประมาณ 0.6 – 0.8 กรัม / กก. น้ำหนักตัว*

ระยะที่ 4 – 5 “ก่อนฟอกต้องจำกัดโปรตีน” 0.6 กรัม / กก. น้ำหนักตัว*

ขั้นฟอกไต “ฟอกแล้วต้องกินชดเชย” ประมาณ 1.0-1.2 กรัม/กก. น้ำหนักตัว*

เลือกกินโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลา ไข่ขาว นม เนื้อสัตว์ ยกเว้นคนที่มีปัญหาฟอสฟอรัสสูง ต้องจำกัด ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์เนื้อแดง ถั่วเมล็ด อาหารแปรรูป/สำเร็จรูป

หมายเหตุ *น้ำหนักตัวที่เหมาะสม
เพศชาย = ส่วนสูง (ซม.)-100   I  เพศหญิง = ส่วนสูง (ซม.)-105

3.กินไขมันที่ดีต่อหัวใจและหลอดเลือด

เน้นกรดไขมันโอเมก้า3 และ โอเมก้า9 สูง เช่นน้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก

ลดไขมันที่มีโอเมก้า6สูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม

ลดน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะพร้าว ไขมันสัตว์

ลดอาหารโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ อาหารทะเลจำพวกปลาหมึก

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ของทอดที่ใช้น้ำมันซ้ำๆ เนยเทียม

4.คุมปริมาณเกลือแร่ โซเดียม โพแทสเซียม และ ฟอสฟอรัส

โซเดียม โซเดียมสูงจะทำให้บวม น้ำท่วมปอด ความดันโลหิตสูง จึงควรจำกัดการกินโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน วิธีลดโซเดียม เช่น ลดเค็มลงครึ่งนึงเวลาปรุงอาหาร ไม่จิ้มน้ำปลา ซีอิ๊ว ไม่กินอาหารปรุงสำเร็จ

โพแทสเซียม โพแทสเซียมสูง ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหยุดเต้นได้ ไตเสื่อมระยะต้นที่ค่าโพแทสเซียมปกติ กินผักผลไม้ได้ แต่ต้องระวังไม่กินมากเกินปกติ

ไตเสื่อมระยะ 4-5 หรือตรวจพบว่าโพแทสเซียมสูงต้องจำกัดการกินโพแทสเซียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยจำกัดผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น พืชหัว ผักสีเขียวเข้ม มะเขือเทศ มะเฟือง กล้วย ทุเรียน รวมทั้ง ไม่ควรใช้เกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา สูตรโซเดียมต่ำที่ใช้เกลือโพแทสเซียมทดแทน

ฟอสฟอรัส ฟอสฟอรัสสูงเกิน ส่งผลต่อกระดูก เปราะ หักง่าย และ ยังทำให้รู้สึกคันตามตัว ผู้ไตเสื่อมระยะที่ 3 – 5 หรือ ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น นม ผักโขม ข้าวไม่ขัดสี ถั่ว ไข่แดง เครื่องดื่มโซดาสีเข้ม หรือ เลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค เป็นต้น

5.การดื่มน้ำ

ปริมาณน้ำ ไม่ใช่เฉพาะน้ำดื่มแต่นับน้ำจากอาหารด้วย สำหรับผู้ไตเสื่อมเรื้อรังหากกินน้ำเกินกว่าที่ไตจัดการได้ จะทำให้มีอาการบวมน้ำ เหนื่อยง่าย น้ำท่วมปอด จึงควรคุมน้ำให้เหมาะกับระยะที่เป็น

ระยะต้น (1-2) แนะนำให้กินน้ำตามปกติ คือ รวมประมาณ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน

ระยะก่อนฟอกไต (3-5) จำเป็นต้องจำกัดน้ำ โดยแนะนำให้ดื่มปริมาณตามแพทย์สั่ง

ระยะฟอกไต กินน้ำได้ รวมประมาณ 3 แก้ว (750 มล.) + ปริมาณเท่าปัสสาวะต่อวัน

6.เลือกอาหารที่มีฉลากโภชนาการ และอ่านฉลากโภชนาการ

อาหารที่ไม่เค็ม ไม่ได้หมายความว่าจะมีโซเดียม โพแทสเซียม และ ฟอสฟอรัสต่ำเสมอไป ดังนั้นจึงแนะนำให้เลือกอาหาร ซอสปรุงรส ของทานเล่น ที่มีฉลากโภชนาการชัดเจน เพื่อเลือกกินได้เหมาะสม รู้ว่าควรจะกินปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะพอดี คุมสารอาหารได้ไม่ทำให้ไตทำงานหนัก

7.หาไอเดียใหม่ๆในการปรุงอาหาร

ปรุงอาหารให้ออกเปรี้ยว หรือ ใช้เครื่องเทศ ผักสมุนไพร มาช่วยแต่งกลิ่น รส ให้อาหารมีรสชาติน่าทานขึ้น  จะช่วยบรรเทาการเบื่ออาหาร และอาจเสริมมื้ออาหารด้วยขนม/ของว่างที่มีโภชนาการที่เหมาะสมกับสุขภาพไต

สิ่งสำคัญที่ควรจำคือ ข้อจำกัดอาหารสำหรับผู้เป็นไตวายเรื้อรัง แม้อยู่ในระยะเดียวกัน ก็อาจมีข้อจำกัดอาหารที่ต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน โดยควรดูผลตรวจเลือดประกอบ หากมีข้อสงสัยว่ากินอะไรได้มากน้อย ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารที่ดูแลท่านด้วย

เพิ่มเพื่อน

หมวดหมู่

บทความน่าสนใจ

Tags