ทำไมร่างกายต้องการ พรีไบโอติกส์ ?
(เรียบเรียงโดย ญานิศา บุญสากุลธงไชย | ตรวจโดย วัชรี ดิษยบุตร BSc.Biochemistry, MSc.Nutrition)
update : 08/10/2021
ถ้าถามว่าอะไรจะช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น “ไฟเบอร์” มักเป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงใช่ไหมคะ เราจึงได้ยินบ่อยๆว่าให้กินพวกผักและผลไม้ เพราะให้ไฟเบอร์สูงช่วยให้ขับถ่าย และยังช่วยคุมน้ำหนักอีกด้วย
แล้วทำไมบางคนกินผักผลไม้เยอะ ยังท้องผูก ?
อาจเพราะว่าร่างกายได้รับ “พรีไบโอติกส์” ไม่เพียงพอ
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ทำงานแตกต่างจากไฟเบอร์พวกกากใย โดยพรีไบโอติกส์เป็นอาหารเฉพาะของจุลินทรีย์สุขภาพ เมื่อย่อยแล้วจะให้สารที่เป็นพลังงานแก่เซลล์ลำไส้ ปรับสภาพแวดล้อมในลำไส้ให้สมดุล รวมทั้งทำให้จุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้เติบโต ทำให้ลำไส้ของเราแข็งแรงทั้งระบบ
การท้องผูกบ่อย หรือ อายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์ลำไส้อ่อนแอ “เมื่อลำไส้เสียสมดุล แม้กินผักผลไม้เยอะ ก็แก้ปัญหาท้องผูกไม่ได้” เราจึงจำเป็น ต้องกินพรีไบโอติกส์ด้วย เพื่อฟื้นสมดุลลำไส้ด้วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
นอกจากช่วยแก้ท้องผูก พรีไบโอติกส์ยังมีประโยชน์อื่นอีกหลายด้าน
- เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันทางเดินอาหารและร่างกาย
- มีส่วนช่วยในระบบการควบคุมการอักเสบ ลดอาการอักเสบในลำไส้
- ลดโอกาสท้องเสียจากการติดเชื้อในลำไส้ โดยยับยั้งการเกาะตัว และการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ก่อโรค
- ลดอาการท้องเสียจากการกินยาปฏิชีวนะ
- เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก
- ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ช่วยให้รู้สึกอิ่ม ดีต่อผู้กำลังคุมหรือลดน้ำหนัก
หลายงานวิจัยพบว่า กินพรีไบโอติกส์ 3– 10 กรัม ต่อวัน ช่วยเสริมสุขภาพ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยระบาย
โดยทั่วไป ในแต่ละวันเรากินพรีไบโอติกส์ได้น้อยมาก เพราะ พรีไบโอติกส์เป็นไฟเบอร์ที่พบน้อยมาก โชคดีที่เดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เสริมพรีไบโอติกส์ เข้าไปด้วย ทำให้กินพรีไบโอติกส์ได้ง่ายขึ้น
แม้พรีไบโอติกส์จะมีประโยชน์มากมาย แต่การแก้ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของไฟเบอร์หลายชนิด จึงไม่ควรเลือกกินเฉพาะพรีไบโอติกส์ เรายังต้องกินผักและผลไม้ด้วย จึงจะช่วยเรื่องท้องผูกได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ