สงสัยไหม หมอตั้งเป้าในการรักษาเบาหวานไว้อย่างไร

(โดย วัชรี ดิษยบุตร, MSc. Nutrition, BSc. Biochemistry)
update : 26/10/2020

measuring-blood-sugar

หลายคนที่เป็นเบาหวาน เบื่อกับการกินยาเป็นกำๆ เคยสงสัยไหมว่าต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เมื่อไหร่จะหาย หลายคนหันไปหาสมุนไพร เพราะคิดว่าจะช่วยให้หายจากเบาหวานได้ ซึ่งมักไม่ได้ผลจริง เพราะในความเป็นจริงแล้ว เบาหวานไม่ใช่โรค แต่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือ ความเสื่อมในการทำงานของตับอ่อนและกลไกของร่างกาย ที่ทำหน้าที่ดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ ดังนั้น เบาหวานจึงเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่! เราอาจควบคุมได้ โดยไม่ต้องใช้ยา

การเสื่อมของร่างกาย แม้ไม่อาจทำให้ย้อนกลับมาเป็นปกติได้ แต่เราสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ให้เหมาะกับสภาวะร่างกายได้ ร่างกายเราก็เปรียบเสมือนรถ ถ้ามีเครื่องยนต์ที่บกพร่องไป ประสิทธิภาพลดลง ถึงเปลี่ยนเครื่องไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่ารถนั้นจะพัง เพียงแต่ว่า เราจำเป็นต้องถนุถนอมดูแล หมั่นตรวจเช็ค บำรุงรักษารถคันนี้ ให้มากขึ้น จะใช้แบบสมบุกสมบันเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว

เป้าหมายของการรักษาเบาหวาน จึงมุ่งที่การรักษาคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นคือ

  • ไม่ให้มีอาการ ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย หิวบ่อย โหยของหวาน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ไม่ให้เกิดอันตรายจากภาวะน้ำตาลสูงเฉียบพลัน
  • ไม่ให้เกิด หรือ ลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง จากเบาหวาน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ความดันสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคไต ตาบอด ระบบประสาทเสื่อม หรือ เป็นแผลเรื้อรังจนต้องตัดอวัยวะ เป็นต้น

การที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ เราจะต้อง “คุมน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ หรือ ใกล้เคียงปกติที่สุด”

หากเพิ่งพบว่าเป็นเบาหวาน มาตรการที่สมาคมโรคเบาหวานทั้งในประเทศไทยและระดับสากล เห็นพ้องกันให้ทำเป็นอันดับแรก คือ ส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวาน เริ่มรักษาตัวเองก่อน ด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. โภชนบำบัด (หรือ Nutrition Therapy)
  2. การออกกำลังกาย และ เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน
  3. เรียนรู้เรื่องโรคเบาหวาน และ การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
  4. ปรับพฤติกรรมเช่น การลดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และ จัดการความเครียด เป็นต้น

ภายหลังการติดตาม 1-3 เดือน หากค่าน้ำตาลในเลือดไม่ดีขึ้น แพทย์จึงจะเริ่มรักษาด้วยยา แต่ก็ยังต้องควบคู่กับการปรับอาหารและพฤติกรรมไปด้วย หากระหว่างให้ยา ผู้เป็นเบาหวานสามารถปรับเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และพฤติกรรม จนคุมน้ำตาลได้ดี แพทย์ก็จะเริ่มลดยา แต่ถ้าคุมน้ำตาลแย่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จำเป็นต้องเพิ่มยา เมื่อร่างกายเสื่อมลงถึงขีดสุด คุมน้ำตาลไม่ได้เลย ก็จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน (ฮอร์โมนที่ช่วยดึงน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์)

ดังนั้นถ้าไม่อยากกินยา หรือ ฉีดอินซูลิน ต้องคุมด้วยตัวเองให้ได้

คนจำนวนไม่น้อยที่เป็นเบาหวาน แต่เค้าเข้าใจในข้อนี้ หันมาเรียนรู้ที่จะปรับอาหารและโภชนาการ ออกกำลังกาย เลิกพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้สามารถกลับมามีค่าน้ำตาลปกติ โดยไม่ต้องพึ่งยาเบาหวานเป็นกำๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้  แสดงว่าคุณสามารถใช้ชีวิตได้สมดุล แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่กลับไปใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง น้ำตาลก็พร้อมที่จะสูงขึ้นได้อีก

Ref: 

  • American Diabetes Association. 4. Lifestyle management: Standards of Medical Care in Diabetesd2018. Diabetes Care 2018;41(Suppl. 1):S38S50
  • สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย,สมาคมต่อไร้ท่อแห่งประเทศไทย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2554. บริษัทศรีเมืองการพิมพ์
เพิ่มเพื่อน

หมวดหมู่

บทความน่าสนใจ

Tags