เบาหวานขณะตั้งครรภ์
(โดย กฤติกา หินทอง)
update : 5/11/2020
ตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร?
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation – IDF) ระบุว่าในปี 2019 ทารกแรกคลอด 1 ใน 6 ได้รับผลกระทบจากคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์* ดังนั้นขณะตั้งครรภ์ควรตรวจเบาหวานอย่างน้อย1 ครั้ง เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจค่ะ โดยคุณหมอมักตรวจเมื่ออายุครรภ์ได้ 24-28สัปดาห์ หากคุณแม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อยู่แล้ว การตรวจเจอเร็วก็จะยิ่งปลอดภัยกว่าค่ะ
เบาหวานขณะตั้งครรภ์อันตรายอย่างไร?
เพราะคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานจะมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การแท้ง ทารกคลอดก่อนกำหนด คลอดยาก เสี่ยงต่อการตกเลือด ติดเชื้อ แผลหายช้า ส่วนทารกมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ หรือหลังคลอด คลอดแล้วพิการแต่กำเนิด เกิดภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอดซึ่งเสี่ยงต่อการชักและสมองพิการ มีโอกาสคลอดติดไหล่ เนื่องจากทารกตัวใหญ่กว่าปกติ และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจริงๆเมื่อโตขึ้น
แล้วเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร?
คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าฉันไม่ได้เป็นเบาหวานมาก่อน และไม่อ้วน ทำไมถึงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ นั้นเป็นเพราะว่าขณะตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนต้านการทำงานอินซูลินของแม่ เพื่อช่วยให้น้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงทารก ร่างกายของแม่จึงต้องสร้างอินซูลินให้มากขึ้น แต่ถ้าสร้างได้ไม่พอ หรือทำงานได้ไม่ดีพอ ก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดแม่สูงกว่าปกติเป็นเวลานาน เกิดเป็นภาวะเบาหวานได้
*** อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยเมื่อน้ำตาลในเลือดสูง อินซูลินจะลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยดึงน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน***
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบภาวะเบาหวาน แบ่งได้เป็น2 กลุ่มคือ
- เป็นเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์ มีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวมาก่อน หลังคลอดก็ยังคงเป็นเบาหวานต่อไป
- เพิ่งมาเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้ว ก็อาจพบว่าเบาหวานก็หายไปด้วย
แล้วมีขั้นตอนการตรวจอย่างไรบ้าง?
ครั้งที่ 1 ตรวจคัดกรองโดยใช้น้ำตาลกลูโคส 50 กรัม (50g. Glucose Challenge Test, GCT)
คุณแม่ไม่ต้องงดอาหารมาก่อน คุณหมอจะให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม รอ1ชั่วโมง แล้วเจาะเลือด ตรวจระดับน้ำตาลหากพบว่าระดับน้ำตาลเท่ากับหรือมากกว่า 140 มก./ดล. (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ก็จะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าคุณแม่มีแนวโน้มที่จะมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอก็จะนัดมาตรวจขั้นตอนถัดไปค่ะ
ครั้งที่ 2 ตรวจวินิจฉัยโดยใช้น้ำตาลกลูโคส 100 กรัม (100g Oral Glucose Tolerant Test, OGTT)คุณแม่ต้องงดน้ำงดอาหารตั้งแต่ 2 ทุ่มวันก่อนหน้าที่จะไปตรวจนะคะ (งดอาหารอย่างน้อย8ชั่วโมง แต่ไม่เกิน14 ชั่วโมง)
ตอนเช้าไปพบคุณหมอจะต้อง
- เจาะเลือดครั้งที่ 1 จะได้ค่าน้ำตาลหลังอดอาหาร ค่าน้ำตาลปกติต้องไม่เกิน 95มก./ดล.
- ดื่มน้ำตาลกลูโคส 100กรัม แล้วเจาะเลือดอีก 3 ครั้ง ทุกๆชั่วโมง
โดยผลครั้งแรก ค่าน้ำตาลแกติต้องไม่เกิน 180มก./ดล.
ผลครั้งที่สอง ค่าน้ำตาลปกติต้องไม่เกิน 155มก./ดล.
ผลครั้งที่สาม ค่าน้ำตาลปกติต้องไม่เกิน 140มก./ดล.
ถ้าเจาะ3 รอบแล้วมีค่าใดค่าหนึ่งเท่ากับหรือสูงกว่าค่าปกติ คุณหมอจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ค่ะ
*ดล.=เดซิลิตร
คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์คือ ปรับพฤติกรรมการกิน มีการวางแผนมื้ออาหาร เลือกชนิดอาหารที่เหมาะสม เพื่อให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอสำหรับตนเองและลูก นอกจากนั้นต้องมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่คุณหมอนัด เพื่อประเมินสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ รวมทั้งตรวจเลือดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อที่คุณหมอจะได้ประเมินและปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสมต่อไปค่ะ
ที่มา:
*https://idf.org/aboutdiabetes/what-is-diabetes/facts-figures.html
American Diabetes Association. Gestational Diabetes Mellitus. Diabetics Care 2003 26: S104.
Kenshole AB. Diabetes and pregnancy. In: Burrow GN, Duffy TP, Copel JA, eds. Medical complications during pregnancy. 6th ed. Philadelphia: Elsever Saunders, 2004: 37.