6 เทคนิค ลดโซเดียม สำหรับคุณแม่บ้าน
(โดย วัชรี ดิษยบุตร BSc.Biochemistry, MSc.Nutrition)
update : 02/03/2021
รู้หรือไม่ เพื่อสุขภาพที่ดีเรา ไม่ควรกินเกลือโซเดียมเกินวันละ2,000มก. (เทียบเท่า เกลือแค่ 1 ช้อนชา) แต่จากการสำรวจคนส่วนใหญ่กินโซเดียมสูงกว่า 4000 มก.ต่อวัน!! นั่นเป็นการเร่งให้ ไตเสื่อม เร็วขึ้น เมื่อไตเสื่อมลง ของเสียและเกลือจะคั่งในร่างกาย ทำให้บวมน้ำ และส่งผลให้เป็น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดตัน ไตวาย
รู้อย่างนี้แล้ว เราหันมาคุมโซเดียมกันเถอะค่ะ
สเตดี้ไลฟ์ มี “6 เทคนิคลดโซเดียม สำหรับคุณแม่บ้าน” มาแนะนำ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพทุกคนในครอบครัวมาฝากค่ะ
1.ใช้ช้อนตวง ตวงเครื่องปรุง แทนการเหยาะจากขวดโดยตรง จะได้รู้ว่าเราใส่เครื่องปรุงไปเยอะขนาดไหนแล้ว
2.ลดเครื่องปรุงแบบขั้นบันได เช่น เดือนแรก ปกติเคยใช้ซอส 5 ช้อน ก็ลดเหลือ 4 ช้อน เดือนถัดไปค่อยลดจาก 4 ช้อน เป็น 3 ช้อน เป็นต้น เพื่อให้เราค่อยๆชินกับรสที่อ่อนลง แต่ไม่ถึงกับรู้สึกจืดชืด
3.ใส่ซีอิ้ว น้ำปลาหลังสุด ในการทำน้ำซุป ต้มยำ หรือ แกง ควรปรุงรสอย่างอื่นก่อนเมื่อใกล้จะเสร็จค่อยใส่เครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม เช่น ซีอิ้ว หรือ น้ำปลา จะปรุงรสได้ง่าย ได้รสที่กลมกล่อม และไม่ต้องเติมบ่อยๆระหว่างต้ม เป็นการลดโซเดียมได้
4.ติดตารางแสดงปริมาณโซเดียม โซเดียมมีในเครื่องปรุงอาหารมากมาย ปริมาณแตกต่างกัน หากเราทำตารางว่าเครื่องปรุงที่ใช้บ่อยมีโซเดียมเท่าไหร่ แปะไว้ในครัว จะได้ช่วยเตือนว่าเราปรุงเยอะเกินไปแล้วหรือไม่
(อยากรู้ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงต่างๆ อย่าลืมติดตามสเตดี้ไลฟ์ตอนต่อๆไปนะคะ)
5.ใช้เครื่องเทศและสมุนไพร เช่น หอม กระเทียม รากผักชี พริกไทย ฯลฯ กลิ่นรสจากเครื่องเทศหรือสมุนไพร ช่วยให้อร่อยขึ้น แม้ปรุงรสน้อยลง รวมทั้งการใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ จะทำให้อาหารมีรสที่กลมกล่อมมากกว่า
6.อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนใช้ให้อ่านดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภค และจำนวนหน่วยบริโภคต่อห่อ/ภาชนะ ของอาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
จำไว้ว่าการรับรสเป็นเรื่องของความเคยชิน แรกๆที่เริ่มลดโซเดียม อาจรู้สึกจืด ไม่อร่อยเท่าเดิม แต่ลองลดเค็มติดต่อกันสัก 1 เดือน ต่อมรับรสจะฟื้นตัวรับรสได้ไวขึ้น เราจะไม่รู้สึกว่าอาหารจืดอีกต่อไป
ได้เทคนิคไปแล้ว อย่าลืมลองนำไปใช้ดูกันนะคะ