6 โรคแทรกซ้อนอันตราย หากไม่คุมเบาหวานให้ดี

(เรียบเรียงโดย ญานิศา บุญสากุลธงไชย | ตรวจทานโดย วัชรี ดิษยบุตร BSc.Biochemistry, MSc.Nutrition)
update : 24/08/2021

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่อง ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ นานวันเข้าผนังหลอดเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยจึงเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนท่อสายยางที่ขาดความยืดหยุ่น เลือดไหลเวียนไม่ดี หลอดเลือดอุดตัน ทำให้อวัยวะขาดเลือดจนเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

  • เบาหวานขึ้นตา ตาบอด

เกิดจากเลือดไปเลี้ยงตาไม่พอ อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัว อาจเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของอายุ ในระยะแรกจะมีอาการ ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน มองเห็นจุดดำ หรือใยแมงมุมอยู่ในอากาศ พอรู้อีกทีก็เป็นระยะรุนแรงจนทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ผู้เป็นเบาหวานจึงควรพบจักษุแพทย์ให้ตรวจตาเป็นประจำ

  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก

เกิดจากหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองตีบและตันในที่สุด อาการมักเกิดเฉียบพลัน ไม่ทันรู้ตัว ทุกนาทีที่สมองขาดเลือด เซลล์สมองจะตายถึงเกือบสองล้านเซลล์ ทำให้ระบบประสาทตอบสนองช้าลง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใน 270 นาที อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถึงขั้นสมองตายไม่ตอบสนองต่อการรักษา

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

หลอดเลือดแดงที่แข็งกระด้าง ทำให้ผนังหลอดเลือดปริแตก กระบวนการปิดแผลจะทำให้เกิดการทับถมของไขมัน ประกอบกับการอักเสบในร่างกาย ทำให้ผนังหลอดเลือดแตกซ้ำและมีการพอกของไขมันทับซ้อนที่จุดเดิม บ่อยเข้าจนหนา ขวางการไหลเวียนของเลือดจนตีบ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหัวใจวายได้

  • โรคไตเสื่อม ไตวาย

ไตมีหน้าที่กรองของเสียและเกลือแร่ที่มากเกินจากเลือด ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อหลอดเลือดตีบตันทำให้ไตเสียหาย การกรองของไตเสื่อมเสื่อมลง ทำให้น้ำตาลและโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะพร้อมของเสียอื่น ระยะแรกของไตเสื่อมมักไม่แสดงอาการ จะรู้ได้จากการตรวจปัสสาวะ เมื่อไตเสื่อมมากขึ้น โปรตีนรั่วออกมามาก จะสังเกตได้ว่าปัสสาวะเป็นฟอง ข้อมือ ข้อเท้าบวม  ไตเสื่อมที่เกิดจากเบาหวาน หากเป็นมาก โอกาสที่จะฟื้นการทำงานของไตจะยาก และหากยังไม่คุมน้ำตาลให้ได้ ในที่สุดจะนำไปสู่ภาวะไตวาย คือ ไตเสื่อมจนไม่ทำงาน ต้องฟอกไต มิฉะนั้นของเสียก็จะคั่งในเลือดจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

  • โรคปลายประสาทเสื่อม

เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่เลี้ยงเส้นประสาทตีบตัน เส้นประสาทจึงเสื่อมโดยเฉพาะปลายประสาท ระดับน้ำตาลที่สูงอาจรบกวนการส่งสัญญาณของระบบประสาทอีกด้วย เมื่อปลายประสาทเสื่อม ทำให้การรับรู้ความรู้สึกลดลง มีอาการชา บางรายปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่ม ที่ปลายมือปลายเท้า ขั้นรุนแรงอาจสูญเสียการรับความรู้สึก ทำให้ไม่รู้ตัวเวลาเกิดภาวะน้ำตาลตก หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้

  • แผลเรื้อรังที่เท้า

ผู้ที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา เวลาเป็นแผลจะติดเชื้อได้ง่าย แผลประสานช้า ทำให้ติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณเท้า ซึ่งเป็นบริเวณที่อับชื้น เชื้อโรคเข้าได้ง่าย และมักมีปัญหาปลายประสาทเสื่อมร่วมด้วย เวลาเป็นแผลมักจะไม่รู้สึกจนลุกลาม ในที่สุดอาจต้องตัดเท้าหรือขา เพื่อควบคุมการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด

แม้ว่าโรคแทรกซ้อนเหล่านี้จะรุนแรง แต่ผู้เป็นเบาหวานก็สามารถจะลดความเสี่ยงหรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้ โดยการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ไม่ใช่เฉพาะน้ำตาลเช้าเท่านั้น แต่ยังต้องคุมน้ำตาลสะสม (HbA1C) ไม่ให้เกิน 7% อีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยการกินอาหารอย่างถูกต้อง กินยาสม่ำเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำนะคะ

เพิ่มเพื่อน

หมวดหมู่

บทความน่าสนใจ

Tags